เช็คความถูกต้องของเอกสารก่อนซื้อรถยนต์มือสอง…จะได้ไม่ตกเป็นตกเป็นเหยื่ออาจเสียเงินฟรีแถมเสี่ยงคุก

  • ซื้อรถยนต์มือสองอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ?

โดยปกติแล้วเวลาไปดู รถยนต์มือสอง เราจะไปเดินดูจนเจอรถที่ถูกใจก่อนจากนั้นก็จะดูโดยละเอียด แล้วถึงจะไปสู่ขั้นตอนการซื้อขาย แล้วร้อยทั้งร้อยจะมองข้ามความสำคัญความถูกต้องของเอกสาร แล้วก็จะไปหลงคารมของคนขายโน่นนี่นั่นว่ารถสวยรถดีเอกสารไม่มีปัญหา เพียงเพราะว่าเราเห็นความสวยงามของตัวรถมาก่อนแล้วและชอบจนเกิดความอยากได้ ความชอบความอยากได้นี่แหละที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น ไปเจอรถสวมทะเบียน รถหลุดจำนำ รถที่ใช้เอกสารปลอม หรือ รถที่โอนลอยมาจนไม่สามารถโอนได้เพราะโดนอายัดหรือเอกสารสำคัญหมดอายุ เพราะฉะนั้นเช็คเรื่องเอกสารให้ถี่ถ้วนเสียก่อน รวมถึงเงื่อนไขในการซื้อขาย การโอน และต้องทำทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้เรียบร้อย

เอกสารสำคัญต้องมีอะไรบ้างที่ต้องตรวจเช็ค!

เอกสารของตัวรถที่ต้องมี คือ 

1.ใบคู่มือจดทะเบียนเล่มจริง 

2.สำเนาบัตรประชาขน 

3.สำเนาทะเบียนบ้าน ของเจ้าของเดิม 

  • ทำไมต้องเป็น “ใบคู่มือจดทะเบียน” เล่มจริง นั่นก็เพราะว่า รถคันนั้นๆ ได้ไถ่ถอนจากไฟแนนซ์เรียบร้อย หรือเจ้าของเดิมซื้อเงินสดมา ถ้าไม่มี “ใบคู่มือจดทะเบียน” เล่มจริง แสดงว่า รถคันนั้นยังไม่ได้ไถ่ถอนจากไฟแนนซ์ หรือ เป็นรถที่โอนลอยมาแบบผิดกฎหมาย ร้ายสุดคือเป็นรถหลุดจำนำ ถ้าไม่มีเล่ม  “ใบคู่มือจดทะเบียน” ตัวจริง ยังไงก็สบายใจได้ระดับหนึ่งว่าโอนที่กรมการขนส่งทางบกได้ค่อนข้างแน่นอน 
  • “สำเนาใบคู่มือจดทะเบียน” ไม่ต่างอะไรจาก “กระดาษเปล่า” กรณีที่รถไม่ติดไฟแนนซ์สำเนาทะเบียนอาจจะเป็นเอกสารที่ทำโอนลอยหรือเอาไปจำนำไว้ยังไงก็โดนไม่ได้ กรณีที่ติดติดไฟแนนซ์สำเนาทะเบียนรถจะเป็นแค่เอกสารแสดงว่าใครเป็น “ผู้ครอบครอง” คำนี้แปลง่ายๆ ว่า “ไม่ใช่เจ้าของรถ” ซึ่งเจ้าของรถตัวจริงคือ “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” นั่นก็คือ “ไฟแนนซ์” นั่นเอง การที่เราจะซื้อจะขายรถที่ติดไฟแนนซ์ แล้วไม่มีเอกสารจากไฟแนนซ์เลยเท่ากับว่าเป็นการซื้อขายที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราซื้อรถที่ติดไฟแนนซ์จาก “นาย A” นาย A จะต้องแจ้งทางไฟแนนซ์เพื่อให้เตรียมเอกสารสำหรับ “การปิดยอดค้าง” และ “เอกสารการโอน” และจะต้องไปทำที่ไฟแนนซ์แล้วทางไฟแนนซ์จะเตียมเอกสารทุกอย่างให้ ถ้าคนขายบอกว่าไม่ต้องเอาชุดโอนลอยไปโอนที่ขนส่งได้เลย หรือ เดี๋ยวเค้าจะไปปิดให้แค่จ่ายเงินมา แนะนำว่าไปหาคันใหม่ดีกว่า
  • “เล่มแทนใบคู่มือจดทะเบียน” กับ “ ใบคู่มือจดทะเบียน” ต่างกันอย่างไร ในกรณีที่เล่มต้นฉบับที่ออกมาครั้งแรก มีการโอนเปลี่ยนมือหลายครั้ง หรือ มีการลงบันทึกหน้า 18 ว่า มีการเปลี่ยนสี, เปลี่ยนเครื่องยนต์, เปลี่ยนระบบขับเคลื่อน, แจ้งระงับการใช้งาน หรือ เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญใดๆ จะลงบันทึกในหน้านี้ เราอาจจะเจอรถที่มีการ “ล้างเล่ม” ด้วยการแจ้งหาย หรือ แจ้งเล่มชำรุด เพื่อให้รายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอนเปลี่ยนมือ หรือ การลงบันทึกหน้า 18 ถูกล้างหายไปกลับมาเริ่มต้นใหม่ ถ้าเจอกรณีแบบนี้บอกสั้นๆ เลยว่า หาคันใหม่! 
  • “โอนลอย” มีสองกรณี อย่างแรกเจ้าของเดิมโอนลอยเพื่อให้เต็นท์นำไปขายต่อ ถ้ารถไม่ติดไฟแนนซ์ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งสำคัญก็คือ “ต้องไปโอนที่กรมการขนส่งทางบก” เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยเพราะรถคันนึงราคาไม่ใช่น้อยๆ กรณี “รถติดไฟแนนซ์” เอกสารโอนลอยจาก “ผู้ครอบครอง” เดิมไม่มีผลอันใดเพราะคนที่มีสิทธิ์ในการทำธุรกรรมคือ “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” นั่นก็คือไฟแนนซ์นั่นเอง 
  • สรุปจุดที่ต้องตรวจสอบเอกสาร
    • หน้า 4 คือหน้าเริ่มต้นของ “รายการจดทะเบียน” ว่าเจ้าของแรกหรือ “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” คือใคร ถ้าซื้อสดก็จะเป็นชื่อบุคล ถ้าจัดไฟแนนซ์ชื่อแรกก็จะเป็นชื่อบริษัทไฟแนนซ์ และจะมีลำดับการครอบครองว่าเป็นลำดับที่เท่าไหร่
    • หน้า 16 เป็นหน้า “รายการเสียภาษี” จะตรวจสอบได้ว่าเสียภาษีครบถ้วนหรือไม่ 
    • หน้า 18 เป็นหน้า “รายการบันทึกของเจ้าหน้าที่” หน้านี้สำคัญมาก เพราะจะบันทึกรายละเอียดทุกอย่าง เช่นการโอนกรรมสิทธิ์จากไฟแนนซ์มาเป็นบุคคล การโอนเปลี่ยนมือ การแจ้งเปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนแชสซีส์, ระบบขับเคลื่อน, การแจ้งย้าย, เปลี่ยนหมายเลยทะเบียน รวมถึงการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง 
    • ตรงที่มีการ ขูด ลบ ขีด ฆ่า จะต้องมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่กำกับทุกจุด 
  • เอกสารแบบไหนเจอแล้วไม่ควรซื้อ?
    • เอกสารที่มีแต่สำเนาไม่มี “ใบคู่มือจะทะเบียน” ฉบับจริง
    • เล่ม “ใบคู่มือจดทะเบียน” ที่เป็น “ออกแทนเล่มเดิม” ต้องระวังให้มากๆ เพราะรายละเอียดสำคัญๆ จะหายไปหมดเลย เราจะเรียกว่า “การล้างเล่ม” 
    • “ชุดโอนลอย” ในกรณีที่รถติดไฟแนนซ์อยู่ถ้าไม่ได้เอกสารหรือติดต่อกับไฟแนนซ์โดยตรง โอกาสเสียเงินฟรีมากเพราะคนที่มีอำนาจใจการทำธุรกรรม์ไม่ใช้คนขาย
    • เอกสารที่เป็นสำเนาแล้วแจ้งว่าโอนไม่ได้ แต่ต่อทะเบียนได้ พวกนี้มักจะเป็นรถที่จำนำไว้ หรือ รถหนีไฟแนนซ์ มีโอกาสมากที่ขับๆ อยู่แล้วจะโดนไฟแนนซ์มายึดคืน หรือโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเยี่ยมบ้าน เนื่องจาก “ผู้ครอบครอง” ขาดส่งค่างวด หรือ ยักยอกทรัพย์โดยการนำรถไปจำนำ เราก็จะโดนข้อหารับของโจร หรือ สมรู้ร่วมคิดก็เป็นได้ ลักษณะแบบนี้เราเห็นบ่อยตามข่าวในช่องทางต่างๆ 

ซื้อรถ อย่าใจร้อน รถที่สวยอาจจะสวยเพราะทำมาดี ขัดสีใหม่ เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ ฟอกภายนอกภายในใหม่ แต่เนื้อแท้เดิมๆ นั้นเห็นแล้วอาจจะอยากรีบหนึไปให้ไกลๆ เช็คเอกสารให้เรียบร้อยก่อนที่จะไปดู่รถอย่างละเอียด ถ้าไปดูรถก่อนความอยากได้อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว ตอนต่อไปจะแนะนำเทคนิคการดูรถว่าดูอย่างไรให้ปลอดภัยจาก “รถย้อมแมว” 

 “ใบคู่มือจดทะเบียน” หน้าปกจะมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเลขทะเบียน ถ้ามีปั๊มว่า “ออกแทนเล่มเดิม” ก็ให้สงสัยก่อนว่า “ล้างเล่ม” มา 

 “รายการจดทะเบียน” จะบอกรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งลำดับการครอบครองและผู้ถือกรรมสิทธิ์ 

“รายการเสียภาษี” สามารถตรวจเช็คได้ว่ารถคันนี้ต่อทะเบียนอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มีการแจ้งระงับการใช้รถบ้างหรือไม่

“หน้า 18” หรือ “รายการบันทึกเจ้าหน้าที่” การล้างเล่มเพราะต้องการไม่ให้คนซื้อเห็นข้อมูล เช่นการโอนเปลี่ยนมือ แจ้งเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนแชสซีส์ เปลี่ยนสี เปลี่ยนหมายเลยทะเบียน ฯลฯ