รู้หรือไม่ ?ประกันภัยรถยนต์ มี 2 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) และ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance) แล้วผู้ใช้รถอย่างเราๆต้องทำแบบไหน ? อะไร ? ยังไง ? เรามีคำตอบให้สำหรับคำถามดังกล่าว
ไล่เรียงจากสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำ ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) ซึ่งเป็นประกันที่ผู้ใช้รถจะต้องทำทุกปี ตามความคุ้มครองที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ประกันภัย พ.ร.บ. นั่นแหละ
สำหรับการประกันภัยดังกล่าวเป็นการคุ้มครองบุคคล ตามชื่อเลย (คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหากผู้ใช้รถไม่ปฎิบัติตาม โดยขอบเขตการคุ้มครองจะครอบคลุมเฉพาะบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินแต่อย่างใด
โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยจากรถทุกคน ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายได้รับการเยียวยา ภายใต้เงื่อนที่แตกต่างกันไปตามความเสียหายที่ได้รับ นอกจากนี้ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ยังต้องใช้สำหรับการต่อภาษีรถประจำปีด้วยเช่นกัน
1.ประกันภัยประเภท 1
ขณะที่ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เว้นแต่ถ้าคุณซื้อใหม่ป้ายแดงและต้องผ่อนกับสถาบันการเงินต่างๆ ส่วนใหญ่จะบังคับให้ทำประกันภัยประเภท 1 ที่มีความคุ้มครองครอบคลุมครบถ้วนสุด ทั้งความเสียหายที่มีต่อบุคคลภายนอกและทรัพย์สินในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงในกรณีที่รถสูญหายหรือไฟไหม้ด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับทุนประกันของรถแต่ละคัน
2.ประกันภัยประเภท 2
รองลงมาได้แก่ ประกันภัยประเภท 2 ที่มีความคุ้มครองใกล้เคียงกับตัวท็อป ทว่าได้ตัดความคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ทำประกันภัยออกไป ส่วนความคุ้มครองรถสูญหายหรือไฟไหม้ยังคงมีอยู่ เอาที่เข้าใจง่ายๆคือ ถ้าเกิดรถอุบัติเหตุบริษัทประกันวินาศภัยจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งด้านร่างการและทรัพย์สินให้กับคู่กรณีของเราเพียงเท่านั้น ส่วนรถของเราต้องซ่อมเอง เพื่อแลกกับค่าเบี้ยประกันภัยที่ย่อมลงมา
3.ประกันภัยประเภท 3
ขยับมาที่ ประกันภัยประเภท 3 เป็นประเภทที่ผู้ใช้รถนิยม เนื่องด้วยค่าเบี้ยประกันภัยที่ไม่สูงมากและจับต้องได้ โดยเฉพาะรถที่มีอายุการใช้งานหลายปีตัดความกังวลไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งประกันภัยประเภทนี้จะคุ้มครองความเสียหายที่มีต่อร่างกายและทรัพย์สินของคู่กรณีเพียงเท่านั้น และไม่มีความคุ้มครองในกรณีที่รถสูญหายหรือไฟไหม้
4.ประกันภัยประเภท 4
ส่วน ประกันภัยประเภท 4 จะคุ้มครองทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเท่านั้น ปิดท้ายด้วย ประกันภัยประเภท 5 เป็นการประกันรูปแบบใหม่ที่ต่อยอดเพิ่มขึ้นมาจาก 4 ประเภทแรก มีให้เลือกใช้ 2 แบบได้แก่ ประเภท 2+ และ ประเภท 3+ ซึ่งมีความคุ้มครองใกล้เคียงกับ ประเภท 2 และ ประเภท 3 แต่จะมีความต่างเล็กน้อยในเรื่องของเงื่อนไขการรับประกัน
ดังนั้นผู้ใช้รถควรทำความเข้าใจถึงนิสัยการใช้รถของตัวเองว่าเป็นเช่นไร ใช้รถมากน้อยแค่ไหน มีความเสี่ยงด้านใดบ้าง เพื่อที่จะเลือกใช้ประกันภัยที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด แต่ถ้าหากพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับประกันภัยประเภท 1 ได้ก็เป็นการตัดปัญหาจุกจิกกวนใจไปในระดับหนึ่ง แต่ถ้ายังต้องจำกัดจำเขี่ยก็แนะนำให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม